การวิปัสสนาแบบสติปัฏฐาน4



ภาพประกอบจาก Internet



สติปัฏฐาน 4

     เรื่องของมหาสติปัฏฐาน 4 นั้น ถ้าใครที่เคยไปปฏิบัติธรรม วิปัสสนากรรมฐาน ก็จะทราบดี แต่ถ้าจะให้เขียนอธิบายรายละเอียดทั้งหมดนั้น คงจะเยอะและมีเนื้อหายาวมากๆ  อาจจะอ่านแล้วพลอยเบื่อไปเลย ++"


     เอาเป็นว่ากระผมจะอธิบายสรุปแนวทางเบื้องต้น ที่สำคัญ เข้าใจง่ายๆ ไว้ให้ศึกษากัน เพื่อจะได้เข้าสู่วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องนะครับ 


      สติปัฏฐาน 4 เป็นการฝึกสติใช้สติ ที่มีความหมายว่า การมีสติเป็นฐาน ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งสติ ซึ่งเมื่อเกิด สัมมาสติขึ้นแล้ว ย่อมยังให้เกิดจิตตั้งมั่นอันคือสัมมาสมาธิร่วมด้วยโดยธรรมหรือธรรมชาติ


     แล้วนำทั้งสัมมาสติและสัมมาสมาธินั้นไปดำเนินการพิจารณาในธรรมคือ เจริญวิปัสสนา ในธรรมทั้งหลายดังที่
แสดงในธัมมานุปัสสนา หรือธรรมอื่นใดก็ได้ตาม.



หัวข้อหลักของสติปัฏฐาน 4 มีดังนี้
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การกำหนดจิตด้วยการเดิน " จงกรม ")
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การกำหนดรู้ ด้วยการวางเฉย ต่ออาการทุกขเวทนา)
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การกำหนดจิต เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งซ่าน)
4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การกำหนดธรรม เมื่อเกิดความรู้สึกต่างๆอันเป็นนิวรณธรรม เช่น ยินดี โกรธ ฟุ้งซ่าน ง่วง



วิธีการปฏิบัติเบื้องต้น


1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
    
      การยืน วิธีปฏิบัติ ให้ยืนตรง ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับมือซ้ายวางไว้ตรงกระเบนเหน็บ หน้าตรง หลับตา สติจับอยู่ที่ศรีษะกำหนดว่า
" ยืนหนอ " 5 ครั้ง แบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกคำว่า "ยืน"
ให้จิตวาดมโนภาพร่างกายจากศรีษะลงมาหยุดที่สะดือ - สะดือลงไปปลายเท้า แล้วกำหนดว่า " หนอ " จากสะดือกลับขึ้นไปบนศรีษะ

      กำหนดแบบนี้กลับไปกลับมาจนครบ 5 ครั้ง ขณะยืนอยู่นั้นให้สติอยู่ในกาย อย่าให้ออกไปนอกกาย

เสร็จแล้วลืมตา ทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ 1 วา สติจับอยู่ที่เท้าเตรียมพร้อมที่จะเดิน (ไม่ควรหลับตานะครับ เพราะจะทำให้เดินเซ )

การเดินจงกลม


เมื่อกำหนด "ยืนหนอ" 5 ครั้งแล้ว จึงตั้งต้นเดินจงกรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เดินสมาธิ นะครับ

การเดินจงกรนั้นมีด้วยกัน 6 ระยะครับ แต่กระผมจะอธิบายในระยะเบื้องต้น (ระยะที่1) ก่อน เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจและปฏิบัติตามได้ถูกต้อง และไม่ยากเกินไปนัก

          การเดินจงกรมเบื้องต้น ( ระยะที่หนึ่ง )

ให้กำหนดว่า "ขวา-ย่าง-หนอ" "ซ้าย-ย่าง-หนอ" โดยปฏิบัติดังนี้

1. ยกส้นเท้าขวาขึ้นพร้อมกับกำหนดว่า "ขวา"

2. เลื่อนเท้าไปข้างหน้าประมาณ 1 คืบ เป็นอย่างมากพร้อมกับกำหนดว่า "ย่าง"
3. แล้วเหยียบพื้นโดยใช้ปลายเท้าลงก่อน แล้วค่อยๆ วางส้นเท้า กำหนดว่า "หนอ"
เท้าซ้ายทำแบบเดียวกับเท้าขวา กำหนดว่า "ซ้าย-ย่าง-หนอ "

เมื่อเดินสุดทางแล้ว กำหนด ยืนหนอ 5 ครั้ง ดังที่กล่าวมาแล้ว

จากนั้นกำหนดกลับโดยกำหนด "กลับ-หนอ" 4 ครั้ง
เมื่อกำหนดครั้งที่ 1 ให้ยกปลายเท้าขวา ส้นเท้าติดพื้น หมุนส้นเท้าไปทางขวา 90 องศา (เหมือนกับท่า กลับหลังหัน)

พร้อมกับกำหนดว่า " กลับ " แล้ววางปลายเท้าลงกับพื้นพร้อมกับกำหนดว่า " หนอ "ครั้งที่ 2 ลากเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา
ครั้งที่ 3 ทำเหมือนครั้งที่ 1
ครั้งที่ 4 ทำเหมือนครั้งที่ 2 แล้วหลับตากำหนด "ยืน-หนอ" 5 ครั้ง

แล้วจึงเดินต่อไปจนหมดเวลาที่กำหนด

  

อานิสงส์ในการเดินจงกรมมีดังนี้
(๑) อดทนต่อการเดินทางไกล
(๒) อดทนต่อความเพียร
(๓) มีอาพาธน้อย
(๔) อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรสแล้วย่อมย่อยไปด้วยดี
(๕) สมาธิที่ได้ในขณะเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน



2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
      
       การกำหนดเวทนา เวทนาก็คือเป็นอาการชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่ร่างกาย ทำให้เกิดความรู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เฉยๆ บ้าง

        สำหรับในขั้นแรกนี้ อาการที่ปรากฏ ให้เกิดความรู้สึกได้ง่ายคือ อาการที่ไม่พอใจ ที่เรียกว่า ทุกขเวทนา เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน แน่น จุกเสียด อึดอัด เป็นต้น (สำหรับท่านที่พึ่งเคยปฏิบัติ สมาธิ หรือเดินจงกรม ในช่วงแรกๆนะครับ)

       ขณะที่กำหนดรู้อยู่ใน การเดินก็ตาม หรือ ขณะนั่งกำหนด "พองหนอ ยุบหนอ" อยู่ก็ตาม เมื่อมีอาการของเวทนาดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้น ให้ทิ้งการกำหนดเดิมเสียก่อน  แล้ว
มากำหนดรู้อยู่ที่อาการของเวทนาที่เกิด เช่น

เจ็บ ก็กำหนดว่า " เจ็บหนอ "
ปวดก็กำหนดว่า " ปวดหนอ "
เมื่อยก็กำหนดว่า "เมื่อยหนอ"
หรือ "คันหนอ ,แน่นหนอ" ฯลฯ ไปตามลักษณะที่เกิดขึ้นนั้นๆ เรื่อยไปจนกว่า จะหายหรือจางไป แล้วจึงกลับมากำหนดอย่างเดิม เช่น เดิน หรือ พอง-ยุบ ต่อทันที  โดยให้สติติดต่อกัน

      แต่ถ้าอาการของเวทนายังเด่นอยู่ ก็ให้กำหนดอยู่ที่เวทนาต่อไป หากทนไม่ไหว เช่น คันจมูกจริงๆ ก็ให้ใช้มือเกาได้ แต่กำหนดอยู่ที่การเคลื่อนไหวของมือเป็นระยะไป เช่นเดียวกับการกำหนดหรือถ้าเมื่อยเกินไป กำหนดเท่าใดก็ไม่หาย ก็ให้กลับตัวหรือขยับเขยื้อนตัวได้โดยกำหนดการเคลื่อนไหวเป็นระยะไป การกำหนดที่เวทนานั้น พยายามกำหนดรู้แต่เพียงอาการของมันเท่านั้นแต่อย่างเดียว อย่าให้จิตดิ้นรนไปด้วยตามอาการของมันด้วย

         กล่าวคือกำหนดรู้ด้วยอาการวางเฉย หากจิตดิ้นรนไป เช่นคิดไปว่า เมื่อไหร่จะตาย หรือ ช้าจริง หรือ เจ็บมากจริง เช่นนี้ อาการของเวทนาไม่หายไปโดยง่าย ต้องวางอารมณ์เฉยๆ กำหนดรู้ไปตามอารมณ์ของมันเท่านั้น



3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

      การกำหนดจิต ในขณะกำหนดรู้อยู่ ใน การเดิน หรือ การนั่ง อยู่นั้นบางครั้งจิตจะไม่รู้อยู่ที่การกำหนด โดยจะแว่บออกจากอารมณ์กรรมฐาน ไปคิดเรื่องต่างๆ(ฟุ้งซ่าน)

      เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ให้กำหนด คิดหนอ คิดหนอ จนกว่าจะหายไป แล้วก็กลับมากำหนดที่การเดินหรือการนั่งต่อไป ก

      การที่จิตแวบออกไปคิดเรื่องราวต่างๆนั้น เมื่อรู้ทันหรือเกิดขึ้นขณะใด ให้กำหนด "คิดหนอ คิดหนอ" ทันที

      บางครั้งขณะนั่งกำหนด "พองหนอ ยุบหนอ" อยู่นั้น จิตอาจเกิดความพอใจหรือยินดีต่างๆ ขึ้นโดยไม่ได้กำหนดรู้ในอารมณ์กรรมฐาน นั้น (คือไม่ได้กำหนดอยู่กับ "พองหนอ หรือ ยุบหนอ" เช่นนี้ ก็ให้กำหนด ยินดีหนอ ทันทีที่รู้


4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

      การกำหนดธรรม เมื่อเกิดความรู้สึกต่างๆอันเป็นนิวรณธรรม
เช่น
- การยินดี หรือความพอใจในอารมณ์ภายนอก (กามฉันทะ) หรือ
- ความโกรธ (พยาบาท)
- ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ (อุทธัจจกุกกุจจะ)
- การง่วงเหงาหาวนอน (ถีนมิธะ)
- มีความคิดลังเลสงสัยในการปฏิบัติ (วิจิกิจฉา)

เป็นไปต่างๆ เช่นนี้ ก็ให้กำหนดรู้อาการของจิตดังกล่าวนั้นๆด้วยทันทีที่รู้ เช่น เมื่อมีกามฉันทะ เกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า "ชอบหนอ"
เมื่อมีความโกรธหรือความพยาบาทเกิดขึ้น
ก็ให้กำหนดว่า "โกรธหนอ"
เมื่อง่วงเหงาหาวนอนก็กำหนด "ง่วงหนอ"
เมื่อมีความสงสัยเกิดขึ้น ก็กำหนด "สงสัยหนอ"


     เมื่อกำหนดอาการที่เป็นนิวรณธรรมที่เกิดขึ้นจนหายแล้ว ก็ให้กลับมากำหนดที่การเดิน หรือ พอง-ยุบ ต่อไปตามเดิม โดยประคองสติไว้ให้ติดต่อกันเป็นอันดี

       ข้อสำคัญที่สุดนะครับ ที่ผู้ปฏิบัติพึงทำทำความเข้าใจ คือการกำหนดให้เป็นปัจจุบัน เพราะการกำหนดรู้อยู่ที่ปัจจุบันนั้นเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งสามารถส่งผลให้การปฏิบัติธรรมได้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็ว จนสามารถได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ล่วงรู้ถึงสังขาร ร่างกาย หรือ รูปกับนาม ที่คนเรายังหลงยึดครองว่าเป็นของเราอยู่ ว่ามีสภาพแท้จริงเป็นอย่างไร

องศ์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้เมตตคูมาณพ ดังปรากฏในโสฬสปัญหา มีใจความว่า

      ท่านรู้ได้อย่างใด อย่างหนึ่งในส่วนที่เป็นอนาคต ในส่วนที่เป็นอดีต ในส่วนท่ามกลางที่เป็นปัจจุบัน จงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความยึดมั่นถือมั่นในส่วนเหล่านี้เสีย ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติไม่เลินเล่อ จะละทุกข์คือ ชาติ ชรา และความโศกความพิไรรำพัน ในโลกนี้เสียได้ ความไม่เพลินเพลินนี้ ก็คือรู้ให้เป็นจริงปัจจุบันนั่นเอง หรืออีกตอนหนึ่งที่ทรงแสดงแก่พาหิยะ มีใจความว่า " จงเห็นสักแต่ว่าเห็น จงได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน จงรู้สักแต่ว่ารู้ แล้วท่านจะไม่มีอะไร เมื่อไม่มีอะไร ท่านก็จะพ้นจากโลกนี้ "
    งงกันไหมครับ ?  *-*   

     กล่าวอีกแง่ก็คือ การที่ให้รู้ สักแต่ว่ารู้ ในสิ่งต่างๆที่ได้เห็น ได้ยินนั้น ก็คือรู้ให้เป็นปัจจุบัน ตัวอย่าง เช่น เมื่อเดินไปตามถนน พบคนที่ไม่รู้จัก ท่านก็จะเห็น เพียงสักแต่ว่าเห็นอย่างแท้จริง โดยไม่มีอดีต อนาคต เข้ามาปะปน (ก็คือ รู้ว่าเห็น อืม...เห็นหนอ แค่นั้น ไม่คิดไปอย่างอื่นใด แม้จะเป็นคนรู้จัก เก่า ใหม่ หรือไม่รู้จัก ก็ตาม)

      แม้ปัจจุบันได้เห็น ก็มิได้ยึดถือ เพียงรู้ว่าเห็นชั่วขณะที่เห็น แล้วปล่อยไป โดยมิได้เพลิดเพลินไปกับการเห็นนั้น

      ส่วนการเห็นที่ไม่เป็นปัจจุบัน คือมีอดีต อนาคต เข้ามาปะปน เช่น เห็นคนที่รู้จัก เห็นคนที่เคยรัก เห็นคนที่เคยเกลียด (แล้วก็คิดถึงอดีต)
      การเห็นแบบนั้น ก็ไม่เป็นปัจจุบันธรรม จิตใจย่อมดิ้นรนไปตามลักษณะของอดีต และอนาคต เข้ามารบกวนจิตใจ

       คงได้ยินสักแต่ว่าได้ยินอย่างแท้จริง จิตใจของท่านก็ย่อมวางเฉยต่อเสียงที่ได้ยิน (เช่น เสียงนินทา ต่อว่า อืมม...ได้ยินหนอ แค่นั้น)

       ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการกำหนดให้เป็นปัจจุบันนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การเป็นปัจจุบันนี้จะต้องเป็นโดยทันที ไม่มีการเหลื่อมล้ำ
เช่น ในการเดินเมื่อเท้าขวายกก็ให้รู้พร้อมกันทันที พยายามรู้ให้พร้อมกับเท้าที่ยกที่ย่าง ที่เหยียบ อันเป็นปัจจุบันเรื่อยไปอย่าได้ขาด ในการกำหนดพองยุบ ที่ท้องก็เช่นกัน พยายามกำหนดให้เป็นปัจจุบันทุกขณะเวลาท้องเริ่มพองก็ให้รู้พร้อม เวลาพองออกไปก็ให้รู้ตามไปจนกระทั่งสุดพองก็ให้รู้ตรงสุด

       พยายามประคองสติให้รู้เป็นปัจจุบันทุกขณะ เวลาท้องเริ่มพองก็ให้รู้ว่าพร้อม
เวลาท้องพองออกไป ก็รู้ตามไปจนกระทั่งสุดพอง ก็ให้รู้ตรงสุด พยายามประคองสติให้รู้เป็นปัจจุบันขณะท้องพอง ท้องยุบ อยู่เสมอ อย่าให้ขาด.

         
            เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับวิธีปฏิบัติเบื้องต้น ก็หวังว่าทุกท่านคงได้รับความรู้ ความเข้าใจ และไปปฏิบัติได้พอสมควรนะครับ มีข้อสงสัยตรงไหน ก็โพสต์ถามข้อสงสัยได้นะครับ...


        ขออนุโมทนาแด่ท่านผู้เจริญแล้วด้วยธรรมที่องศ์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเมตตาแสดงไว้ให้สัตว์โลกได้ปฏิบัติตาม สาธุ. _/\_







.........................................................


By kunawut





















2 ความคิดเห็น: