บุญกุศลแบบไหนได้อานิสงส์สูงสุด


ภาพประกอบจาก Internet

           มีหลายท่านถามกระผมกันมากทีเดียว เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ว่าทำบุญ หรือทำทาน แบบไหนได้บุญเยอะที่สุด หรือ ทำแบบไหนได้ผลบุญมากที่สุด จริงๆแล้ว เราควรทำบุญ ทำทานทุกครั้งที่มีโอกาสนะครับ ไม่ควรเลือกว่าทำอะไร ทำกับใคร ทำกับพระ-เณร รูปไหน องค์ไหน  เพราะจิตจะเกิดกิเลส( ความอยาก ) กลายเป็นความโลภไป ทำให้ได้อานิสงส์ ผลบุญไม่เต็มที่นะครับ
เรื่องของอานิสงส์ในการทำบุญ จากข้อมูลที่ศึกษา แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ

" ทาน ศีล ภาวนา "

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับ

ทาน

๑ . ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี

๒ . ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม


๓ . ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม


๔ . ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม


๕ . ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ


๖ . ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่ - พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม ( ความจริงยังมีการแยกเป็นพระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อพอให้ได้ความเท่านั้น )


๗ . ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม


๘ . ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม


๙ . ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม


๑๐ . ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม


๑๑ . ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม


๑๒ . ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายสังฆทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม


๑๓ . การถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า " การถวายวิหารทาน " แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม " วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน


๑๔ . การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ( ๑๐๐ หลัง ) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ " ธรรมทาน " แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม " การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้รู้ได้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ "

๑๕ . การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ " อภัยทาน " แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือ " การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู " ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ " ละโทสะกิเลส " และเป็นการเจริญ " เมตตาพรหมวิหารธรรม "



ศีล


การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน

ทั้งในการถือศีลด้วยกันเองก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้ คือ

๑ . การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๕ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม

๒ . การถือศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ แม้จะถือเพียงครั้งเดียวก็ตาม


๓ . การถือศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม


๔ . การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้ว รักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาที่มี ศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม


 
ฉะนั้นในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะเป็นเนกขัมบารมีในบารมี ๑๐ ทัศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูง ๆ คือการภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อ ๆ ไป ผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น ซึ่งล้วนแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้นเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงเล็กๆน้อยๆหากไม่มีอกุลกรรมอื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ ๔ ประการ



ภาวนา


         อานิสงส์ของศีล ๕ มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่ง ๆ ขึ้นตามระดับและประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้นจะมีอานิสงส์เพียงไรก็ยังเป็นแต่เพียงการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลาง ๆ ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาให้สงบ ไม่ให้ก่อให้เกิดทุกข์โทษขึ้นทางกายและวาจาเท่านั้น ส่วนทางจิตใจนั้นศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้
 
  
ฉะนั้น การรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่า การภาวนา เพราะการภาวนานั้น เป็นการรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางหรือจนหมดกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารวัฏ การภาวนา จึง เป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงสุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญมากที่สุดเป็นกรรมดีอันยิ่งใหญ่เรียกว่า " มหัคคตกรรม " อันเป็นมหัคคตกุศล

      การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนาจัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น
มี ๒ อย่างคือ " สมถภาวนา ( การทำสมาธิ )" และ " วิปัสสนาภาวนา ( การเจริญปัญญา )


 
อย่างไรก็ดีการเจริญสมถภาวนา หรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ก็เป็นเพียงเนื้อไม้เท่านั้น
     การเจริญวิปัสสนา ( การเจริญปัญญา ) จึงจะ เป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบก็เป็นแก่นไม้โดยแท้...

         ทั้งนี้ เราก็ไม่ควรที่จะเลือกทำแต่บุญที่ได้อานิสงส์สูงๆเพียงอย่างเดียวนะครับ ควรทำทุกๆครั้งเมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ภาวนา เป็นการสะสมบุญ กุศล หลายๆด้าน และทำด้วยจิตบริสุทธิ์

  
หากมัวถามว่า ทำบุญแบบไหน ได้มาก - ได้น้อย นั้น  " ไม่ต่างจากที่เรายังยึดติดในกิเลส  "  
..................................


By. kunawut



32 ความคิดเห็น:

  1. อนุโมทนาด้วยครับ
    ถ้าจะขอคัดลอกบทความเพื่อนำไปพิมพ์ เป็นส่วนหนึ่ง ของการพิมพ์แจกหนังสือธรรมะสวดมนต์ จะได้หรือไม่ ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ทางแอดมิน ต้องการเผยแพร่ธรรมะในแบบสั้นๆ เข้าใจง่าย เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น บางส่วนก็ได้เขียนขึ้นเองตามประสบการณ์ และบางข้อความ ก็คัดลอกมาจา่กหนังสือหรือแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อีกทางหนึ่ง

      ในส่วนของการจัดทำหนังสือธรรมะยินดี แอดมินยินดีเป็นอย่างสูงที่จะข้อความไปเผยแพร่ครับ แต่แนะนำให้เพิ่มเติมข้อมูลที่เชื่อถือได้จากแหล่งความรู้อีกทีนะครับ ^^

      ลบ
  2. ขอ อนุโมทนาสาธุ แก่ธรรมทานครั้งนี้ด้วยเถิด

    ตอบลบ
  3. สาธุๆๆ. ขออนุญาติแชร์นะคะ

    ตอบลบ
  4. อนุโมทนาบุญด้วยนะครับ สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ
  5. ผมอยากร่วมทำบุญสร้างโบสถ์หรือวิหารหรือพิมพ์หนังสือสวดมนต์ครับ ใครกำลังมีความคิดจะทำช่วยบอกหน่อยนะครับ ขออนุโมทนาบุญครับ mr.rasikaj@hotmail.com

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ13 เมษายน 2559 เวลา 09:36

    การปฏิเสธ พวกที่มีอาชีพขอทาน และพวกที่หาผลประโยชน์หากินกับความศรัทธา ถือว่าเป็นบาปไหมครับ คือบอกไปว่าไม่มีก็กลายเป็นโกหก จะผิดศีลอีก หรือควรบอกว่าไม่ให้ จะดีกว่าไหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อยู่ที่เจตนานะครับ 1 เจตนาที่จะไม่ให้เพียงอย่างเดียว 2 เจตนาไม่ให้และต้องการตำหนิผู้ขอ 3 เจตนาที่จะไม่ให้และเจตนาที่จะปฏิเสธว่าเราไม่มี
      เจตนาเหล่านี้เป็นตัวกำหนดกรรมและวิบาก
      มีเจตนาแต่ไม่ได้ลงมือกระทำ ลงมือกระทำแต่ผู้ขอไม่ได้รับผลกระทบเช่นเขาย้ายไปขอคนอื่น เราว่าเขาไม่ทัน ก็ถือว่ากรรมนั้นยังไม่สมบูรณ์
      แต่ใจเราต่างหากที่เดือดร้อน ถ้าทำบ่อยๆจิตเราเองจะเศร้าหมอง

      ลบ
  7. อนุโมทนาด้วยครับ

    ตอบลบ
  8. อนุโมทนาสาธุ

    ตอบลบ
  9. ไม่ระบุชื่อ9 ธันวาคม 2559 เวลา 05:04

    อนุโมทนาบุญในการเผยแพร่ธรรมค่ะสาธุค่ะ

    ตอบลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ9 ธันวาคม 2559 เวลา 05:05

    อนุโมทนาบุญในการเผยแพร่ธรรมค่ะสาธุค่ะ

    ตอบลบ
  11. ขออนุญาติ ก็อปพิมให้เพื่อนๆ นะคะ
    อนุโมทนาบุญในการเผยแพร่ธรรมค่ะสาธุค่ะ

    ตอบลบ
  12. อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ สาธุ

    ตอบลบ
  13. ถามหน่อยสิ ใครเป็นคนบอกหรอว่าทำบุญกับสัตว์ แล้วได้บุญน้อย..? พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน พระพุทธเจ้าสอนให้เราละซึ่งกิเลศต่างหาก ไอ้พวกนี้มนุษย์คิดมาเองแล้วอ้างพระองค์ท่าน บาปหนานิ่งกว่าเปรต

    ถ้าเป็นอย่างนั้นเราควรค่นหาพระโสดาบันแล้วไปทำบุญกับท่านดีกว่าไหม?

    ใครจะเชื่อหรือไม่ก้อสุดแล้วแต่ อยู่ที่ใจ ใครมีสมองตรองดูเถิด...

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ทางแอดมิน ต้องการเผยแพร่ธรรมะในแบบสั้นๆ คลายข้อสงสัย และเพื่อเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น บางส่วนก็ได้เขียนขึ้นเองตามประสบการณ์

      ต้องขอบพระคุณทุกท่าน ที่ช่วยแนะนำในจุดที่บกพร่องและชี้แนะทางที่ถูกต้องด้วยนะครับ ^^

      ลบ
  14. ถ้าเราทัวแต่มาถามหาว่าทำบุญอะไรได้มากกว่ากัน แสดงว่ามนุษย์เหล่านั้นยังมีความโลภอยู่ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้...

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ทางแอดมิน ต้องการเผยแพร่ธรรมะในแบบสั้นๆ คลายข้อสงสัย และเพื่อเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น บางส่วนก็ได้เขียนขึ้นเองตามประสบการณ์

      ต้องขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่าน ที่ช่วยแนะนำในจุดที่บกพร่อง และชี้แนะทางที่ถูกต้องด้วยนะครับ ^^

      ลบ
  15. สาธุ..ที่ทำให้เข้าใจมากขึ้น.

    ตอบลบ
  16. การรักษาศีล5 สมาทาน อานิสงส์ก็ทำให้รวยได้ครับ จขกท.ควรศึกษาข้อนี้ดีๆน่ะครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ทางแอดมิน ต้องการเผยแพร่ธรรมะในแบบสั้นๆ ใช้คำง่ายๆ ไม่ให้เครียดจนเกินไป และเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น บางส่วนก็ได้เขียนขึ้นเองตามประสบการณ์ และบางข้อความ ก็คัดลอกมาจา่กหนังสือหรือแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อีกทางหนึ่ง

      ในทุกๆคอมเม้นต์ แอดมินพยายามจะหาข้อมูลเพิ่มเติมมาปรับปรุงข้อมูลที่เผยแพร่ไปในส่วนที่บกพร่อง/ผิดพลาด ต้องกราบขออภัย และขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่ช่วยชี้แนะด้วยนะครับ

      ลบ
  17. สาธุๆๆครับได้ความรู้เพิ่มมากเลยครับ

    ตอบลบ